จะกี่ร้อนกี่หนาว ‘ชุดกี่เพ้า’ก็ยังเร้าใจ

mark

ชีวิตคนเมืองจีน / ใครจะคิดว่าชุดประจำชาติของสาวจีนหรือ‘กี่เพ้า’ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อเกือบ 400 ปีที่แล้ว จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ด้วยเอกลักษณ์ของกี่เพ้าที่เรียบแต่สง่า หวานแต่ไม่เลี่ยน ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ของชาวจีนที่รู้จักดัดแปลงให้กี่เพ้าเข้ากับยุคสมัยและความนิยม ทำให้กี่เพ้าไม่เคย‘ล้าสมัย’ และยังครองใจสาวๆได้จนถึงทุกวันนี้

ชุดกี่เพ้าหรือฉีเผา(旗袍) ตามสำเนียงจีนกลางนี้ มีต้นกำเนิดในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ซึ่งปกครองแบบ 8 แว่นแคว้น(ปาฉี八旗)โดยชนเผ่าแมนจู ผู้นิยมเสื้อผ้าชุดยาวตลอดลำตัวที่เรียกว่า‘เผา(袍)’ จึงเป็นที่มาของ ‘ฉีเผา’นั่นเอง โดยได้รับความนิยมสูงสุดในรัชสมัยคังซีและหยงเจิ้ง (ค.ศ.1662-1736) ยุครุ่งเรืองแห่งราชวงศ์ชิง

หลังปีค.ศ.1840 วัฒนธรรมตะวันตกได้ค่อยๆ จู่โจมเข้าสู่แดนมังกรพร้อมกับยุคล่าอาณานิคม เมืองชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะเมืองสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีชาวตะวันตกเข้าอยู่อาศัยปะปนกับชาวจีน จึงได้รับอิทธิพลตะวันตกก่อนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่แฟชั่นการแต่งกายแบบฝรั่งที่ค่อยๆ แทรกซึม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

รูปแบบของชุดกี่เพ้าที่เราเห็นกันในปัจจุบัน จึงมีวิวัฒนาการจากชุดสตรีชาวแมนจู ที่ถูกสตรีชาวฮั่นนำไปประยุกต์ดัดแปลง ผสมผสานการดูดซับเอาวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายที่เน้นส่วนโค้งเว้าเข้ารูปแบบตะวันตก โดยจะมีลักษณะของแขน ปก ชาย การผ่าข้าง และความสั้นยาวเปลี่ยนไปตามความนิยมในแต่ละยุคสมัย

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 จนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม(ค.ศ.1966-1976) ชุดกี่เพ้าถูกตีตราว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมคร่ำครึทั้ง 4 (แนวคิด วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตแบบเก่า) ที่สมควรถูกขจัดให้สิ้นแผ่นดินจีน

เมื่อผ่านพ้นยุคแห่งความขัดแย้งภายใน เข้าสู่ยุคเปิดประเทศ สังคมจีนเริ่มเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ เสื้อผ้าที่เคยถูกบังคับให้ใช้ได้ไม่เกิน 3 สี คือ ดำ เทา และน้ำเงิน ก็ได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสรเสรีทางสีสัน บรรดาสาวจีนจึงเริ่มสลัดชุดฟอร์มสมัยปฏิวัติ แล้วหยิบกี่เพ้าที่ถูกแช่เย็นไว้ราว 30 ปี มาปัดฝุ่นและแปลงโฉม แต่เนื่องจากปิดประเทศไปนาน ทำให้ชุดกี่เพ้าในช่วงทศวรรษที่ 80 ดูค่อนข้างจะเชยไปนิด